สวัสดีครับ ขอต้อนรับเข้าสู่บล็อควรรณคดีไทย : มรดกแห่งภูมิปัญญา นะครับ วันนี้จะลงบทความชิ้นแรก คือ วรรณทัศนา : ลิลิตโองการแช่งน้ำ ( ๑ ) นะครับ
วรรณคดีเรื่องลิลิตโองการแช่งน้ำ เป็นวรรณคดีที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษร คาดว่าแต่งขึ้นในต้นรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ หรือพระเจ้าอู่ทอง ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ.๑๘๙๓ - ๑๙๑๒ แต่งด้วยคำประพันธ์ประเภทลิลิต คือ ร่ายกับโคลงสลับกัน วรรณคดีเรื่องนี้มีชื่อเรียกหลายชื่อ อาทิ ประกาศแช่งน้ำ , โคลงแช่งน้ำ หรือ ลิลิตโองการแช่งน้ำ เป็นต้น วัตถุประสงค์ในการแต่งวรรณคดีเรื่องนี้ก็เพื่อใช้อ่านในพระราชพิธีถือน้ำที่เรียกกันว่าพระราชพิธี “ พระพัท” หรือ “ พระพิพัท”
ภายในบทความเรื่องนี้ผมจะขอนำเสนอองค์ประกอบต่างๆของวรรณคดีเรื่องลิลิตโองการแช่งน้ำ โดยเรียงตามหัวข้อย่อยดังต่อไปนี้
๑. ภูมิหลังของวรรณคดีเรื่องลิลิตโองการแช่งน้ำ
๒. ผู้แต่ง
๓. เนื้อหา
๔. ฉันทลักษณ์
๕. ภาษาและสำนวนโวหาร
๖. ความคิดและความเชื่อ
โดยในครั้งนี้จะนำเสนอในส่วนของภูมิหลังและผู้แต่งก่อนนะครับ
๑. ภูมิหลังของวรรณคดีเรื่องลิลิตโองการแช่งน้ำ
ลิลิตโองการแช่งน้ำเป็นวรรณคดีที่แต่งขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ หรือพระเจ้าอู่ทอง ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา เนื่องจากวรรณคดีเรื่องนี้มีการกล่าวถึงพระนามของกษัตริย์ถึง ๒ แห่ง และเป็นพระนามที่ตรงกันดังที่ปรากฏในร่าย ๒ บท ได้แก่พระนาม “ สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรบรมมหาจักรพรรดิศรราช” ซึ่งใกล้เคียงกับพระนามของพระเจ้าอู่ทองที่ปรากฏในกฎหมายตราสามดวงเมื่อกล่าวถึงกฎหมาย “ พีสูทดำน้ำพีสูทลุยเพลิง” คือ “ พระบาทสมเดจ์พระเจ้ารามาธิบดีศรีสินทรบรมจักรพรรดิศรบวรธรรมิกมหาราชาธิราชเจ้า” อย่างไรก็ตามพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสันนิษฐานไว้ว่า วรรณคดีเรื่องลิลิตโองการแช่งน้ำนี้น่าจะมีมาก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยา และมีการสืบต่อกันมาจากเมืองที่ถือไสยศาสตร์ ( ชลดา เรืองรักษ์ลิขิต , ๒๕๔๗ , น.๑๐ )
นอกจากนั้น จิตร ภูมิศักดิ์ ก็มีความเห็นว่า วรรณคดีเรื่องนี้อาจมีมาก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาในสมัยพระเจ้าอู่ทอง เพราะเต็มไปด้วยสำนวนไทยโบราณ และใช้ภาษาที่เก่ากว่าภาษาที่พบในกฎหมายสมัยต้นกรุงศรีอยุธยา ( จิตร ภูมิศักดิ์ , ๒๕๔๗ , น.๒๔ – ๓๖ ) ซึ่งวรรณคดีเรื่องนี้น่าจะมีมาก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยา เพราะจากการที่ผมได้ค้นคว้าข้อมูลด้านประวัติศาสตร์พบว่ามีประเพณีการถือน้ำสาบานตนแพร่หลายอยู่ในหมู่คนไทยก่อนหน้าสมัยพระเจ้าอู่ทองแล้ว แต่เมื่อนำมาใช้ในพระราชพิธีถือน้ำพระพัทในสมัยพระเจ้าอู่ทอง ก็ไม่น่าจะคัดลอกมาทั้งหมด โดยเชื่อว่าน่าจะมีการนำมาปรับแต่งให้เหมาะกับยุคสมัย ซึ่งพิธีถือน้ำพระพัท หรือ พระพิพัท นี้สันนิษฐานว่าน่าจะคือ “ พระพัทธ์” ที่ย่อมาจากชื่อเต็มว่า “ พระพัทธ์ประติชญา” ของขอม โดยมีความหมายว่า “ผูกมัดด้วยคำสาบาน” พระราชพิธีพระพัทหรือพระพิพัทของไทยนี้ ภายหลังต่อมาเรียกเพี้ยนไปเป็น” พระพิพัฒน์สัตยา” ด้วยไม่เข้าใจความหมายเดิม
๒. ผู้แต่ง
ในวรรณคดีเรื่องลิลิตโองการแช่งน้ำไม่มีการระบุชื่อผู้แต่งไว้ แต่เมื่อพิจารณาวัตถุประสงค์ในการแต่งที่ว่าพราหมณ์ในราชสำนักอยุธยานำลิลิตโองการแช่งน้ำอ่านในพระราชพิธีถือน้ำพระพัทธ์ หรือที่เรียกในสมัยปัจจุบันว่าถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาซึ่งกำหนดให้บรรดาข้าราชการทั้งหลายได้ดื่มน้ำสาบานตนว่าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ จึงสันนิษฐานได้ว่าผู้แต่งเรื่องลิลิตโองการแช่งน้ำน่าจะเป็นพราหมณ์ที่เป็นข้าราชสำนักในรัชสมัยพระเจ้าอู่ทองนี้เอง ซึ่งมีนักวิชาการหลายท่านสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นพราหมณ์ที่มาจากประเทศอินเดีย โดยเข้ามาในตอนต้นรัชกาล แต่ รศ.ดร.ชลดา เรืองรักษ์ลิขิต นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณคดีไทยสมัยอยุธยาได้สันนิษฐานว่า พราหมณ์ผู้แต่งเรื่องลิลิตโองการแช่งน้ำนี้น่าจะเป็นพราหมณ์ชาวไทยจากเมืองนครศรีธรรมราชที่อพยพมาอยู่ที่กรุงศรีอยุธยามากกว่าจะเป็นพราหมณ์ที่มาจากอินเดีย เพราะเรื่องลิลิตโองการแช่งน้ำแต่งเป็นภาษาไทยและเมื่อนำมาอ่านในพระราชพิธีถือน้ำพระพัทธ์ก็อ่านเป็นภาษาไทย นอกจากนี้ยังมีเนื้อความบางส่วนที่เกี่ยวกับเทพเจ้าสำคัญทั้งสามของศาสนาฮินดูที่มีใจความผิดเพี้ยนซึ่งผมจะอธิบายในส่วนต่อไป โดยความผิดเพี้ยนดังกล่าวนั้นผิดวิสัยของพราหมณ์อินเดียที่น่าจะมีความรู้เกี่ยวกับเทพเจ้าเป็นอย่างดี โดยผมมีความเห็นสอดคล้องกับ รศ.ดร.ชลดา กับข้อสันนิษฐานดังกล่าว และเมื่อผมไปศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมก็ทำให้มีข้อมูลเพื่อมาสนับสนุนความเชื่อเพิ่มขึ้นว่า น่าจะมีพราหมณ์ชาวอินเดียทำหน้าที่ควบคุมการประกอบพระราชพิธีให้ดำเนินไปอย่างถูกต้องตรงตามแบบแผนของทางอินเดีย ( วุฒิชัย โกศลกาญจน์ , ๒๕๓๑ , น.๓๔ )
ในการนำเสนอครั้งต่อไป ผมจะกล่าวถึงเนื้อหา รูปแบบของลิลิตโองการแช่งน้ำที่มีความโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ รวมถึงความคิดความเชื่อที่ปรากฏในวรรณคดีเรื่องนี้ โปรดติดตามและบอกต่อด้วยนะครับ
ปล. หากผู้ใดจะนำบทความนี้ไปใช้ประโยชน์ กรุณาอ้างถึงแหล่งที่มาด้วยนะครับ เพราะนั่นเป็นเครื่องหมายของความสุจริตทางวิชาการและเป็นการให้เกียรติเจ้าของผลงานด้วยครับ
******************************************************
บรรณานุกรม
จิตร ภูมิศักดิ์. ( ๒๕๔๗ ). โองการแช่งน้ำ และข้อคิดใหม่ในประวัติศาสตร์ไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยา.
พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน.
ชลดา เรืองรักษ์ลิขิต. ( ๒๕๔๔ ). วรรณคดีอยุธยาตอนต้น : ลักษณะร่วมและอิทธิพล. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
____________. ( ๒๕๔๗ ). อ่านโองการแช่งน้ำ ฉบับวิเคราะห์และถอดความ. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
วุฒิชัย โกศลกาญจน์. ( ๒๕๓๑ ). การชำระวรรณกรรมเรื่องโองการแช่งน้ำ. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต
มหาวิทยาลัยศิลปากร. ( อัดสำเนา )
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น